ในยุคที่ข้อมูลเปรียบเสมือนทรัพย์สินมีค่า การละเมิดข้อมูล หรือ Data Breach ได้กลายเป็นภัยคุกคามสำคัญที่องค์กรทุกขนาดต้องเผชิญ ผู้คนนับล้านทั่วโลกล้วนได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ Data Breach ในทุก ๆ ปี ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายทั้งเรื่องความเป็นส่วนตัว ทรัพย์สิน และชื่อเสียง

เข้าใจ Data Breach และภัยคุกคามในยุคดิจิทัล
การละเมิดข้อมูล หรือ Data Breach คือ การเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับ ข้อมูลส่วนตัว หรือข้อมูลที่ละเอียดอ่อนโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นจากการโจรกรรมข้อมูลหรือการแฮก (Hacking) ในรูปแบบต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดการเจาะรหัสเข้าฐานข้อมูล และดึงข้อมูลออกไปขายต่อหรือนำไปใช้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งสามารถสร้างความเสียหายแก่บุคคล ทรัพย์สิน และความมั่นคงขององค์กรได้อย่างมาก
ตามรายงานของ IBM Cost of a Data Breach 2024 พบว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยจากการเกิด Data Breach ทั่วโลกสูงถึง 4.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือ 83% ขององค์กรที่เคยถูกละเมิดข้อมูลมักถูกโจมตีซ้ำมากกว่าหนึ่งครั้ง สถิติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า Data Breach เป็นภัยคุกคามที่น่ากลัวและเป็นปัญหาที่ยากจะจัดการ
ความแตกต่างระหว่าง Data Breach และ Data Leak
Data Breach และ Data Leak เป็นสองคำที่อาจดูคล้ายกันแต่มีความหมายแตกต่างกัน โดยการรั่วไหลของข้อมูล (Data Leak) มักเกิดจากอุบัติเหตุและเกิดขึ้นเมื่อแหล่งข้อมูลภายในเปิดเผยข้อมูลแก่บุคคลภายนอก ในขณะที่ การละเมิดข้อมูล มักเกิดขึ้นจากการที่บุคคลภายนอกพยายามเข้าถึงเครือข่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อเข้าถึงหรือขโมยข้อมูล
ในการละเมิดข้อมูล ยังมีเรื่องของ Personal Data Breach หรือการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล คือ เหตุการณ์ที่ข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลถูกเปิดเผย เข้าถึง แก้ไข หรือทำลาย โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากความจงใจหรือความประมาท สามารถพบได้บ่อยในกรณีที่มิจฉาชีพต้องการปลอมแปลงเอกสาร เพื่อทำธุรกรรมที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อบุคคลผู้เป็นเจ้าของข้อมูลนั้น ๆ และอาจนำไปสู่การสูญเสียทรัพย์สิน
สาเหตุของการเกิด Data Breach

การละเมิดข้อมูลมีสาเหตุหลากหลาย ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกองค์กร ดังนี้
1. ระบบความปลอดภัยที่ไม่รัดกุม (Weak Security)
หากไม่มีการตั้งค่ารหัสผ่านที่รัดกุม กำหนดสิทธิ์ในการเข้าถึงระบบเครือข่ายองค์กร หรือไม่มีการติดตั้งไฟร์วอลล์ (Firewall) อย่างเหมาะสม อาจเป็นช่องโหว่ให้เกิด Data Breach เมื่อแฮกเกอร์พบช่องโหว่นี้ ก็จะสามารถแทรกมัลแวร์ (Malware) เพื่อบันทึกข้อมูลและส่งกลับไปยังแฮกเกอร์
2. การโจมตีด้วยรหัสผ่าน (Password Attack)
การตั้งรหัสผ่านที่คาดเดาง่ายหรือใช้รหัสผ่านเดียวกันหลายบัญชี ทำให้แฮกเกอร์สามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้ ดังนั้นการตั้งรหัสผ่านจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อป้องกันการเข้าถึงข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้นการป้องกันอุปกรณ์ปลายทาง เช่น EDR และ MDR จึงเป็นอีกมาตรการความปลอดภัยที่สำคัญ โดยเฉพาะเมื่อพนักงานแต่ละคนมีคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายขององค์กร
3. การโจมตีทางวิศวกรรมสังคม (Social Engineering Attacks)
การโจมตีทางวิศวกรรมสังคม คือ การบิดเบือนทางจิตวิทยาเพื่อหลอกให้เหยื่อส่งมอบข้อมูลที่ละเอียดอ่อน โดยหนึ่งในรูปแบบวิศวกรรมสังคมที่พบได้บ่อย คือ การฟิชชิง (Phishing) ซึ่งเป็นการหลอกล่อให้ผู้ใช้งานกรอกข้อมูลส่วนตัวในหน้าเว็บไซต์หรือลิงก์ที่มีมัลแวร์แฝงอยู่
4. ภัยคุกคามจากภายใน (Insider Threats)
ในบางกรณี บุคลากรภายในองค์กรอาจเป็นผู้ทำการละเมิดข้อมูล โดยใช้สิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลอ่อนไหวหรือเป็นความลับของบริษัท ซึ่งมักจะทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวหรือความไม่พอใจต่อองค์กร เช่น พนักงานคัดลอกข้อมูลลูกค้าเพื่อนำไปขายต่อให้บุคคลที่สาม (Third-Party)
5. การดาวน์โหลดจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ (Drive-by Download)
หากมีการดาวน์โหลดโปรแกรมจากเว็บไซต์ที่ไม่น่าเชื่อถือ อาจมีการแทรกไวรัสหรือมัลแวร์ (Malware) ลงในคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายขององค์กร ซึ่งอาจนำไปสู่การรั่วไหลของข้อมูลได้ในที่สุด ดังนั้นติดตั้งระบบ เช่น Secure Web Gateway ที่เป็นโซลูชันป้องกันภัยจากอินเทอร์เน็ตจึงเป็นอีกหนึ่งมาตรการความปลอดภัยที่ควรพิจารณา
6. การโจมตีด้วย Ransomware
Ransomware เป็นมัลแวร์ประเภทหนึ่งที่มักเข้ารหัสข้อมูลสำคัญและเรียกค่าไถ่จากองค์กร เพื่อปลดล็อกข้อมูลเหล่านั้น โดยแฮกเกอร์จะล็อกการเข้าถึงข้อมูลจนกว่าจะได้รับการชำระเงิน จากสถิติในปี 2024 พบว่า มูลค่าความเสียหายเฉลี่ยจาก Ransomware นั้นมีมูลค่าสูงถึง 4.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ยังไม่รวมค่าไถ่ที่อาจมีมูลค่าสูงหลายสิบล้านดอลลาร์
7. การโจมตีห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Attacks)
Supply Chain Attacks คือ การโจมตีที่เกิดขึ้นผ่านผู้ให้บริการหรือระบบที่เกี่ยวข้องกับองค์กร โดยแฮกเกอร์ใช้ช่องโหว่ในซอฟต์แวร์หรือบริการจากพาร์ตเนอร์ที่องค์กรใช้ ทำให้ข้อมูลหลุดรั่วโดยที่องค์กรไม่สามารถรับรู้ หรือรับมือได้ทันท่วงที
8. การโจมตีด้วย AI (AI-Powered Cyber Attacks)
ปัจจุบัน เทคโนโลยีและ AI ได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว แฮกเกอร์จึงประยุกต์ใช้ AI และ Machine Learning เพื่อวิเคราะห์ช่องโหว่ของระบบ และคิดค้นวิธีการโจมตีที่แม่นยำและยากต่อการตรวจจับ เช่น การลอกเลียนแบบพฤติกรรมมนุษย์เพื่อหลอกลวงเหยื่อในการ Phishing เป็นต้น
ผลกระทบของ Data Breach ต่อองค์กรและบุคคล
Data Breach สร้างผลกระทบร้ายแรงทั้งต่อองค์กรและบุคคล ทั้งในด้านการเงิน ชื่อเสียง และความเชื่อมั่น
ผลกระทบต่อองค์กร
- ความเสียหายทางการเงิน - โดยมีค่าใช้จ่ายในการจัดการกับการละเมิด ค่าปรับ และการฟ้องร้องทางกฎหมาย
- สูญเสียชื่อเสียง - ความเชื่อมั่นของลูกค้าและพาร์ทเนอร์ลดลง ส่งผลต่อยอดขายและรายได้ในระยะยาว
- ธุรกิจหยุดชะงัก - ระบบบางอย่างอาจต้องหยุดทำงานชั่วคราว เพื่อตรวจสอบและแก้ไขปัญหา
- การสูญเสียทรัพย์สินทางปัญญา - ข้อมูลลับทางธุรกิจอาจถูกขโมยและนำเผยแพร่หรือนำไปใช้โดยคู่แข่ง
- ผลกระทบทางกฎหมาย - หากขาดระบบป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์จนส่งผลให้เกิด Data Breach องค์กรอาจถูกตั้งข้อหาในการละเมิด พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ซึ่งนำไปสู่การถูกฟ้องร้องและการปรับ
ผลกระทบต่อบุคคล
- การโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล - ข้อมูลส่วนตัวที่ถูกขโมยอาจถูกนำไปใช้ในการปลอมแปลงตัวตน
- ความเสียหายทางการเงิน - การเข้าถึงบัญชีธนาคาร หรือบัตรเครดิตโดยไม่ได้รับอนุญาต
- การคุกคามความเป็นส่วนตัว - ข้อมูลที่สามารถใช้ระบุตัวตนอาจถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ
กรณีศึกษา Data Breach ในประเทศไทย
- ข้อมูลคนไทยเกือบ 20 ล้านชุดถูกประกาศขาย (2024) - ข้อมูลประกอบด้วยชื่อ–นามสกุล เลขบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ และที่อยู่ ถูกแฮกเกอร์ขโมยจากเครือข่ายของกรมกิจการผู้สูงอายุและกองทัพเรือ
- ข้อมูลรั่วไหลจากอดีตพนักงาน JIB (2024) - อดีตพนักงานบริษัท JIB ได้ขโมยข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าไปใช้ในทางที่มิชอบ โดย JIB ถูกปรับเป็นเงินจำนวน 7 ล้านบาท เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด PDPA
- ข้อมูลผู้สมัคร สว. หลุด 2 หมื่นรายชื่อ (2024) - เกิดเหตุการณ์ละเมิดข้อมูลภายในระบบของ กกต. ส่งผลให้ข้อมูลของผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาระดับอำเภอจำนวน 20,000 รายรั่วไหล
- The 1 Card ถูกขโมยข้อมูลสมาชิก (2024) - ข้อมูลส่วนบุคคลของสมาชิกบัตร The 1 Card กว่า 5 ล้านบัญชีถูกแฮกเกอร์ขโมยและเปิดเผยบนดาร์กเว็บ (Dark Web)
กลยุทธ์การป้องกัน Data Breach สำหรับองค์กร

การป้องกัน Data Breach ต้องใช้วิธีการแบบองค์รวมที่ผสมผสานทั้งเทคโนโลยี กระบวนการ และการอบรมบุคลากร เพื่อสร้างรากฐานความปลอดภัยดิจิทัล ช่วยลดความเสี่ยงและผลกระทบจากการละเมิดข้อมูลที่อาจเกิดขึ้น
1. การเสริมระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์
การเสริมความปลอดภัยของข้อมูล เป็นพื้นฐานสำคัญในการป้องกัน Data Breach องค์กรควรตั้งค่าการเข้าถึงข้อมูลโดยกำหนดสิทธิ์ (Access Control) อย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการเข้าถึงข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อน ควบคู่กับการใช้ระบบฐานข้อมูล (Data Warehouse) ที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การเข้ารหัสข้อมูลสำคัญทั้งในขณะจัดเก็บและระหว่างการส่งข้อมูลช่วยให้แม้ว่าข้อมูลจะถูกโจรกรรม ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงหรือนำไปใช้งานได้โดยง่าย
2. การรักษาความปลอดภัยของรหัสผ่าน
การตั้งรหัสผ่านรักษาความปลอดภัยของรหัสผ่าน นับเป็นหนึ่งแนวป้องกันด่านแรกที่ทุกองค์กรต้องให้ความสำคัญ โดยเน้นใช้งานรหัสผ่านที่คาดเดาได้ยากและมีความซับซ้อน เพื่อป้องกันการโจมตีด้วยการสุ่มรหัสผ่าน (Brute-Force Attack) พร้อมเปิดใช้งานการใช้การยืนยันตัวตนแบบหลายปัจจัย (Multi-Factor Authentication - MFA) เพิ่มความปลอดภัยอีกระดับโดยไม่พึ่งพารหัสผ่านเพียงอย่างเดียว อีกทั้งองค์กรควรกำหนดนโยบายให้พนักงานเปลี่ยนรหัสผ่านเป็นประจำทุก 60-90 วัน และใช้ระบบจัดการรหัสผ่านหรือ Authenticator ที่ได้รับการรับรอง ก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากการรั่วไหลของข้อมูลได้นั่นเอง
3. การเพิ่มความปลอดภัยของเครือข่าย
ในยุคที่มีการเชื่อมต่อระบบออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง องค์กรควรใช้ ไฟร์วอลล์ (Firewall) เพื่อตรวจสอบข้อมูลที่เข้า-ออกระบบเครือข่าย หรืออาจพิจารณาอัปเกรดเป็น Next-Generation Firewall (NGFW) ที่มีความสามารถในการตรวจจับภัยคุกคามขั้นสูง
นอกจากนี้ การใช้ระบบป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล (Data Loss Prevention) ช่วยตรวจจับและป้องกันการส่งข้อมูลสำคัญไม่ให้ออกนอกระบบขององค์กรโดยไม่ได้รับอนุญาต อีกทั้ง การแบ่งส่วนเครือข่าย (Network Segmentation) ยังช่วยจำกัดการแพร่กระจายของการละเมิดให้อยู่ในวงจำกัดหากเกิดเหตุการณ์โจรกรรมข้อมูลหรือถูกแฮก
4. การใช้เทคโนโลยีความปลอดภัยขั้นสูง
ปัจจุบันมีโซลูชันความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่สามารถช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับการป้องกัน Data Breach ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น ระบบตรวจจับและตอบสนองต่อภัยคุกคามบนอุปกรณ์ปลายทาง (EDR) ที่ช่วยป้องกันคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่าง ๆ จากการโจมตี ในขณะที่บริการตรวจจับและตอบสนองที่มีการจัดการ (MDR) มอบการตรวจสอบและตอบสนองต่อภัยคุกคามแบบ 24/7 ที่กำกับดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์
ในมุมของการป้องกันภัยคุกคามในอินเทอร์เน็ต โซลูชันอย่าง Secure Web Gateway สามารถป้องกันการเข้าถึงเว็บไซต์ที่เป็นอันตราย และยังมีระบบจัดการเหตุการณ์ความปลอดภัย (SIEM) ที่รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้านความปลอดภัยจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อตรวจจับความผิดปกติอีกด้วย
5. การฝึกอบรมบุคลากรภายในองค์กร
นอกเหนือจากโซลูชันความปลอดภัยรูปแบบต่าง ๆ แล้ว การจัดการฝึกอบรมและสร้างความตระหนักให้บุคลากรก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ โดยองค์กรควรจัดฝึกอบรมเกี่ยวกับความปลอดภัยไซเบอร์อย่างสม่ำเสมอ สร้างความตระหนักเกี่ยวกับเทคนิคการหลอกลวง เช่น Phishing และวิธีการตรวจจับ แนะแนววิธีการระบุและรายงานกิจกรรมหรือพฤติกรรมที่น่าสงสัย พร้อมทั้งสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยภายในองค์กรที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการปกป้องข้อมูล
6. การใช้ Cloud Computing อย่างปลอดภัย
ในยุคที่องค์กรต่าง ๆ ย้ายข้อมูลไปยังคลาวด์มากขึ้น การเลือกใช้ Cloud Computing Hybrid ที่มีการรักษาความปลอดภัยรัดกุมช่วยให้องค์กรสามารถใช้ประโยชน์จากความยืดหยุ่นของคลาวด์โดยไม่เสี่ยงต่อภัยคุกคาม ทั้งยังควรตรวจสอบการตั้งค่าความปลอดภัยบนคลาวด์อย่างสม่ำเสมอ การกำหนดนโยบายการเข้าถึงข้อมูล และการจัดการข้อมูลบนคลาวด์ที่ชัดเจน ทั้งหมดนี้จะช่วยลดความเสี่ยงของการละเมิดข้อมูลในสภาพแวดล้อมคลาวด์ได้
7. การจัดการการตอบสนองต่อเหตุการณ์
องค์กรควรพัฒนาแผนการตอบสนองต่อเหตุการณ์ด้านความปลอดภัยที่ครอบคลุมและทดสอบแผนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าใช้งานได้จริงเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้นจริง โดยมีการกำหนดบทบาทและความรับผิดชอบอย่างชัดเจนในกรณีเกิดการละเมิด เพื่อช่วยให้ทีมสามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การสำรองข้อมูลสำคัญอย่างสม่ำเสมอ และทดสอบการกู้คืนช่วยให้มั่นใจว่าธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้แม้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง
Data Breach เป็นภัยคุกคามที่สำคัญในยุคดิจิทัล โดยมีเป้าหมายตั้งแต่ระดับบุคคลไปจนถึงระดับองค์กร ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบทางการเงิน แต่ยังรวมถึงชื่อเสียงและความไว้วางใจจากลูกค้าและพาร์ทเนอร์อีกด้วย ในโลกที่ภัยคุกคามทางไซเบอร์มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง การป้องกัน Data Breach ต้องอาศัยการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยี กระบวนการ และการศึกษาบุคลากร พร้อมลงทุนในโซลูชันความปลอดภัยที่ครอบคลุม เพื่อความยั่งยืนและความสำเร็จในระยะยาวขององค์กร
Sangfor Technologies นำเสนอโซลูชันที่ครอบคลุมเพื่อช่วยองค์กรในการป้องกัน Data Breach และรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ซับซ้อนในปัจจุบัน ด้วยโซลูชันที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อปกป้องข้อมูลสำคัญและรักษาความต่อเนื่องทางธุรกิจ
สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโซลูชันด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์จาก Sangfor ได้ที่ www.sangfor.com หรือติดต่อผู้เชี่ยวชาญของเราเพื่อขอรับคำปรึกษาเพิ่มเติม