ข้อมูลรั่วไหล Data Leak คือ การที่ข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลสำคัญขององค์กรถูกส่งออกไปนอกองค์กรโดยไม่ได้รับอนุญาตและตกไปอยู่ในมือของบุคคลที่ไม่มีสิทธิ์ให้เข้าถึงข้อมูลนั้น การรั่วไหลของข้อมูล (Data Breach) ถือเป็นเหตุการณ์ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อองค์กรทุกขนาด ตั้งแต่ธุรกิจขนาดเล็กไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ หน่วยงานรัฐบาล รวมถึงองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอีกด้วย

ข้อมูลทุกรูปแบบสามารถรั่วไหลออกจากเครือข่ายขององค์กรได้ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่มักตกเป็นเป้าหมายของแฮกเกอร์หรือมิจฉาชีพ ได้แก่
- ข้อมูลส่วนบุคคลที่ระบุตัวตนได้ (PII) เช่น ชื่อ-นามสกุล เลขบัตรประชาชน หรือวันเกิด เป็นต้น
- ข้อมูลทางการเงิน เช่น หมายเลขบัตรเครดิต ข้อมูลบัญชีธนาคาร
- ข้อมูลธุรกิจที่เป็นความลับ เช่น แผนธุรกิจ ข้อมูลลูกค้า หรือทรัพย์สินทางปัญญา
- ข้อมูลด้านสุขภาพ เช่น ประวัติการรักษาพยาบาล
- ข้อมูลการดำเนินงานที่สำคัญขององค์กร หรือข้อมูลที่เป็นความลับทางการค้า
ผลกระทบจากข้อมูลรั่วไหลมีความรุนแรงและส่งผลใยวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายต่อชื่อเสียง การสูญเสียความเชื่อมั่นจากลูกค้าและพาร์ทเนอร์ ความเสียหายทางการเงิน การหยุดชะงักของการดำเนินธุรกิจ และอาจมีผลกระทบทางกฎหมาย ดังนั้น การทำความเข้าใจและป้องกันข้อมูลรั่วไหล จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับทุกองค์กรในปัจจุบัน
สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดข้อมูลรั่วไหลในองค์กร
ข้อมูลรั่วไหล สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุและหลายช่องทาง ซึ่งองค์กรจำเป็นต้องเข้าใจถึงรูปแบบการรั่วไหล เพื่อให้สามารถหาวิธีป้องกันข้อมูลรั่วไหลที่มีประสิทธิภาพ ฉะนั้นมาดูกันว่าข้อมูลรั่วไหลมีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง
1. การโจรกรรมข้อมูลโดยแฮกเกอร์ภายนอก
การโจรกรรมข้อมูลอันเนื่องมาจากแฮกเกอร์เป็นกรณีข้อมูลรั่วไหลที่พบได้บ่อยที่สุด โดยแฮกเกอร์จะโจมตีระบบ และเข้าถึงข้อมูลสำคัญขององค์กร ซึ่งอาจสาเหตุมักมาจากระบบรักษาความปลอดภัยที่ไม่รัดกุมมากพอ ไม่มีการตรวจจับการเข้าถึงระบบจากภายนอก การตั้งค่าระบบที่ผิดพลาด หรืออาจมีช่องโหว่ในระบบที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข
ในกรณีข้อมูลรั่วไหลระดับบุคคล หรือข้อมูลส่วนตัวของพนักงานรั่วไหลอาจถูกนำไปใช้ในการสวมรอยหรือขโมยเงินจากบัญชีธนาคาร แต่หากข้อมูลรั่วไหลในระดับองค์กร ข้อมูลเหล่านั้นอาจถูกนำไปขายต่อให้บุคคลที่สามในดาร์กเว็บ (Dark Web) หรือถูกเรียกค่าไถ่ด้วย Ransomware หรือในอีกกรณีหนึ่ง ข้อมูลที่เป็นความลับอาจถูกเปิดเผยสู่สาธารณะ ส่งผลให้องค์กรเสียชื่อเสียง ขาดความน่าเชื่อถือ และในกรณีร้ายแรงอาจส่งผลถึงขั้นล้มละลาย
2. การปล่อยข้อมูลโดยไม่ตั้งใจจากบุคลากรภายใน
ในบางครั้ง พนักงานหรือบุคลากรภายในองค์กรอาจเป็นสาเหตุของข้อมูลรั่วไหลโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น
- การส่งอีเมลที่มีไฟล์สำคัญแนบไปให้ผิดคน
- การโพสต์ข้อมูลที่ละเอียดอ่อนบนโซเชียลมีเดียโดยไม่ได้ตั้งใจ
- มีการใช้ช่องทางสื่อสารที่ไม่ปลอดภัย หรือไม่ได้มีการติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยที่รัดกุมมากพอ
- การตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงแบบฟิชชิง (Phishing)
ข้อมูลที่หลุดออกไปอาจเป็นข้อมูลที่สามารถเชื่อมโยงถึงบุคคลได้ เช่น ชื่อ-นามสกุล เบอร์มือถือ เลขบัญชี หรืออีเมล ซึ่งอาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น การสวมรอย การโจรกรรมข้อมูล การฉ้อโกง ฯลฯ
3. การตั้งค่าระบบที่ไม่ปลอดภัย
เจ้าหน้าที่ไอทีหรือผู้ดูแลระบบอาจตั้งค่าระบบไม่ถูกต้องหรือไม่รัดกุมพอ ทำให้เกิดช่องโหว่ที่แฮกเกอร์สามารถเจาะเข้ามาได้ ตัวอย่างเช่น
- ไม่อัปเดตซอฟต์แวร์หรือแพตช์ความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ
- การตั้งค่า ไฟร์วอลล์ (Firewall) ที่ไม่เหมาะสม
- ขาดการตรวจจับและป้องกันการบุกรุกจากภายนอก
4. การโจรกรรมข้อมูลโดยคนใน
ในบางครั้งข้อมูลรั่วไหลอาจเกิดจากคนในองค์กรเองที่มีเจตนาร้าย เช่น พนักงานที่ไม่พอใจในองค์กรหรือกำลังจะลาออก พนักงานที่ถูกว่าจ้างให้แฝงตัวมาจากบริษัทคู่แข่งเพื่อขโมยข้อมูล หรือผู้ที่ต้องการหาประโยชน์จากข้อมูลลับขององค์กร โดยข้อมูลที่ถูกขโมยอาจเป็นข้อมูลทางการค้า แผนธุรกิจ ข้อมูลลูกค้า หรือข้อมูลสำคัญอื่น ๆ ขององค์กร
5. การใช้วิธีการส่งข้อมูลที่ไม่ปลอดภัย
องค์กรอาจมีการส่งข้อมูลออกไปภายนอกโดยใช้ช่องทางหรือวิธีการที่ไม่ปลอดภัยเพียงพอ เช่น
- การใช้ File Transfer Protocol (FTP) ที่ไม่มีการเข้ารหัส
- มีการอนุญาตให้ใช้อุปกรณ์ USB ที่ไม่ได้รับการควบคุม
- ไม่มีนโยบายการเข้ารหัสข้อมูลที่ส่งออกนอกองค์กร
- การใช้บริการ Cloud Computing ที่ไม่ปลอดภัยหรือไม่ได้มาตรฐาน
วงจรการโจรกรรมข้อมูลและการรั่วไหลของข้อมูล
การโจมตีที่ส่งผลให้ข้อมูลรั่วไหลมักมีขั้นตอนและวงจรที่ชัดเจน การทำความเข้าใจวงจรดังกล่าวจะช่วยให้องค์กรสามารถวางแผนป้องกันได้ในทุกขั้นตอน
1. การสำรวจและค้นหาช่องโหว่
แฮกเกอร์มักจะเริ่มต้นด้วยการสำรวจระบบขององค์กร เพื่อค้นหาจุดอ่อนหรือช่องโหว่ในระบบรักษาความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์ที่ไม่ได้รับการอัปเดต ช่องโหว่ในเว็บแอปพลิเคชัน หรือแม้แต่การตั้งค่าไฟร์วอลล์ที่ไม่เหมาะสม
2. การเจาะระบบเบื้องต้น
เมื่อพบช่องโหว่ แฮกเกอร์จะใช้เทคนิคต่าง ๆ เพื่อเข้าถึงระบบเบื้องต้น เช่น การโจมตีด้วย Phishing ผ่านอีเมลที่ดูคล้ายอีเมลจริง เพื่อหลอกให้ผู้ใช้เปิดเผยข้อมูลหรือติดตั้งมัลแวร์ การใช้มัลแวร์หรือโทรจันเพื่อเจาะระบบ การเดารหัสผ่านแบบ Brute Force Attack รวมถึงการใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข
3. การขยายสิทธิและการเคลื่อนที่ภายในระบบ
หลังจากเข้าถึงระบบได้แล้ว แฮกเกอร์จะพยายามขยายสิทธิและเคลื่อนที่ไปยังส่วนต่าง ๆ ของระบบเพื่อเข้าถึงข้อมูลที่มีค่ามากขึ้น โดยการเพิ่มระดับสิทธิการเข้าถึงเพื่อขโมยข้อมูลที่สำคัญ ค้นหาข้อมูลประจำตัวของผู้ดูแลระบบ การเข้าไปยังเซิร์ฟเวอร์หรือระบบอื่น ๆ ในเครือข่ายขององค์กร
4. การรวบรวมและถ่ายโอนข้อมูล
เมื่อเข้าถึงข้อมูลเป้าหมายได้แล้ว แฮกเกอร์จะทำการรวบรวมและถ่ายโอนข้อมูลออกไปจากระบบ โดยอาจใช้ช่องทางการสื่อสารที่ซ่อนเร้น ส่งข้อมูลออกไปทางช่องทางที่ไม่ได้รับการตรวจสอบ หรือบีบอัดและเข้ารหัสข้อมูลเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับจากระบบรักษาความปลอดภัย
5. การลบร่องรอย
ในขั้นตอนสุดท้าย แฮกเกอร์มักจะพยายามลบร่องรอยการโจมตี เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับ โดยลบบันทึกการเข้าถึงระบบ (Log Files) ปิดใช้งานระบบตรวจจับการบุกรุก หรือซ่อนช่องทางการเข้าถึงและใส่ Backdoor ไว้สำหรับการโจมตีในอนาคต
เทคโนโลยีและวิธีป้องกันข้อมูลรั่วไหลที่มีประสิทธิภาพ
การป้องกันข้อมูลรั่วไหลจำเป็นต้องใช้แนวทางที่ครอบคลุมและเทคโนโลยีที่หลากหลาย มาดูกันว่าจะมีวิธีป้องกันข้อมูลรั่วไหลอย่างไรบ้างที่องค์กรควรพิจารณานำมาใช้
1. การใช้ Next-Generation Firewall (NGFW)
Next-Generation Firewall หรือ NGFW เป็นระบบรักษาความปลอดภัยที่ทันสมัยกว่าไฟร์วอลล์แบบดั้งเดิม โดยมีคุณสมบัติเพิ่มเติม เช่น การตรวจสอบแพ็กเก็ตเชิงลึก (Deep Packet Inspection) การป้องกันการบุกรุก (Intrusion Prevention) การกรองเว็บไซต์ (URL Filtering) รวมถึงการตรวจจับและป้องกันมัลแวร์ขั้นสูง NGFW จะช่วยป้องกันการเข้าถึงระบบจากภายนอกโดยไม่ได้รับอนุญาต และช่วยตรวจจับการโจมตีที่อาจทำให้ข้อมูลรั่วไหลออกสู่ภายนอก
2. ระบบป้องกันการสูญหายของข้อมูล (Data Loss Prevention: DLP)
ระบบ Data Loss Prevention เป็นเทคโนโลยีที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันข้อมูลรั่วไหล โดยจะตรวจสอบและควบคุมการถ่ายโอนข้อมูลที่ออกจากองค์กร ระบุและติดตามข้อมูลที่มีความอ่อนไหว พร้อมป้องกันไม่ให้ผู้ใช้ส่งข้อมูลสำคัญออกนอกองค์กรโดยไม่ได้รับอนุญาต และจะแจ้งเตือนเมื่อมีการพยายามส่งข้อมูลที่ละเอียดอ่อนออกนอกองค์กร
3. ระบบตรวจจับและตอบสนองภัยคุกคามขั้นสูง
เทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น EDR (Endpoint Detection and Response) และ MDR (Managed Detection and Response) ช่วยให้องค์กรสามารถตรวจจับภัยคุกคามบนอุปกรณ์ปลายทางแบบเรียลไทม์ วิเคราะห์พฤติกรรมที่น่าสงสัยเพื่อค้นหาการโจมตีที่ซับซ้อน พร้อมตอบสนองต่อภัยคุกคามโดยอัตโนมัติเพื่อป้องกันข้อมูลรั่วไหล อีกทั้งยังสามารถให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับภัยคุกคามเพื่อปรับปรุงการรักษาความปลอดภัยในอนาคต
4. Secure Web Gateway (SWG)
Secure Web Gateway เป็นโซลูชันที่ช่วยป้องกันข้อมูลรั่วไหลผ่านทางเว็บไซต์ ด้วยการคัดกรองการเข้าถึงเว็บไซต์ที่เป็นอันตราย พร้อมป้องกันการส่งข้อมูลที่ไม่ได้รับอนุญาตผ่านทางเว็บแอปพลิเคชันและมัลแวร์ที่แพร่กระจายผ่านทางเว็บ
5. การเข้ารหัสข้อมูล (Data Encryption)
การเข้ารหัสข้อมูลเป็นหนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันข้อมูลรั่วไหล เพราะแม้ข้อมูลที่มีการเข้ารหัสจะถูกขโมยไป แต่แฮกเกอร์จะไม่สามารถเปิดอ่านหรือนำข้อมูลไปใช้ได้ หากไม่ถอดรหัสข้อมูลเสียก่อน โดยการเข้ารหัสดังกล่าวสามารถใช้ได้กับข้อมูลทั้งที่อยู่นิ่ง (Data at Rest) และข้อมูลที่กำลังเคลื่อนที่ (Data in Transit) ในอีกนัยหนึ่ง Data Encryption ถือเป็นมาตรการป้องกันสุดท้ายเมื่อมาตรการอื่น ๆ ล้มเหลวและข้อมูลรั่วไหลออกไปสู่สาธารณะ
6. การใช้ Cloud Computing แบบ Hybrid ที่ปลอดภัย
Cloud แบบ Hybrid ที่มีการแยกจัดเก็บข้อมูลและรักษาความปลอดภัยที่เหมาะสม สามารถช่วยป้องกันข้อมูลรั่วไหลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเริ่มจากการแยกแยะข้อมูลที่มีความอ่อนไหวไว้ในคลาวด์ส่วนตัว (Private Cloud) ประกอบกับมีการเข้ารหัสข้อมูลที่เก็บไว้บนคลาวด์ ประกอบกับการควบคุมการเข้าถึงที่เข้มงวด นอกจากนี้ผู้ให้บริการคลาวด์นั้นอาจมีมาตรการตรวจสอบและเฝ้าระวังกิจกรรมบนคลาวด์อย่างต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัยอีกระดับ
ในยุคปัจจุบันที่ที่ข้อมูลดิจิทัลมีค่ามากขึ้นเรื่อย ๆ การป้องกัน ข้อมูลรั่วไหล ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของเทคโนโลยี แต่เป็นกระบวนการต่อเนื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนในองค์กร การเรียนรู้ถึงรูปแบบ สาเหตุ และวิธีการป้องกันข้อมูลรั่วไหลที่ครอบคลุมนั้น จะช่วยให้องค์กรสามารถปกป้องข้อมูลที่เป็นความลับและมีค่าได้
สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโซลูชันด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์จาก Sangfor ได้ที่ www.sangfor.com หรือติดต่อผู้เชี่ยวชาญของเราเพื่อขอรับคำปรึกษาเพิ่มเติม และเริ่มปกป้องธุรกิจของคุณจากไวรัสคอมพิวเตอร์และภัยคุกคามในโลกดิจิทัลอื่น ๆ