CASB (Cloud Access Security Broker) คือ ผู้ให้บริการโซลูชันความปลอดภัยที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างโครงสร้างพื้นฐาน IT แบบ On-Premise ขององค์กรกับโครงสร้างพื้นฐานของผู้ให้บริการคลาวด์ (Cloud) โดย CASB มีหน้าที่เป็น “ผู้รักษาประตู” ซึ่งจะบังคับใช้นโยบายความปลอดภัยต่างๆ และปกป้องข้อมูลขณะที่รับ-ส่งระหว่างเครือข่ายองค์กรและแอปพลิเคชันคลาวด์ อีกทั้ง CASB ยังมอบการมองเห็น (Visibility) ในการใช้งานคลาวด์ ช่วยควบคุมข้อมูล ป้องกันภัยคุกคาม และบังคับใช้นโยบายการปฏิบัติงาน เพื่อช่วยให้องค์กรรักษาความปลอดภัยในสภาพแวดล้อมคลาวด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในยุคของ Cloud Computing Hybrid ที่องค์กรต้องจัดการทั้งระบบ On-premises และ Cloud ไปพร้อมๆ กัน
CASB มีหลักการทำงานอย่างไร?
Cloud Access Security Broker ทำงานผ่านกระบวนการดังนี้
- การมองเห็นและการค้นพบ (Visibility and Discovery) - CASB ทำหน้าที่เป็น ”ศูนย์กลาง” ในการระบุและวิเคราะห์บริการคลาวด์ทั้งหมดที่ผู้ใช้งานเชื่อมต่ออยู่ ตั้งแต่แอปพลิเคชันที่ได้รับอนุญาตจาก IT และ Shadow IT ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากแผนก IT
- การสร้างและบังคับใช้นโยบาย (Policy Creation and Enforcement) - ผู้ดูแลระบบ IT เป็นฝ่ายที่กำหนดนโยบายความปลอดภัยที่ CASB จะบังคับใช้ โดยนโยบายเหล่านี้จะครอบคลุมด้านต่างๆ เช่น การควบคุมการเข้าถึงข้อมูล มาตรการความปลอดภัยข้อมูล (เช่น Encyption หรือ Data Loss Prevention: DLP) และโปรโตคอลการป้องกันภัยคุกคาม (การสแกนมัลแวร์หรือ Ransomware ต่างๆ)
- การติดตามและควบคุมการรับ-ส่งข้อมูล (Data Flow Monitoring and Control) - CASB เป็นตัวกลางของข้อมูลที่รับ-ส่งระหว่างผู้ใช้งานและบริการคลาวด์ โดยทำหน้าที่ติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ พร้อมบังคับใช้นโยบายความปลอดภัยที่กำหนดไว้ล่วงหน้า เช่น Data Loss Prevention (DLP) หรือ ZTNA ซึ่งอาจรวมถึงการป้องกันการสูญเสียข้อมูล การป้องกันภัยคุกคาม การควบคุมการเข้าถึงข้อมูล การตรวจจับความผิดปกติ และการรายงานการปฏิบัติตามข้อกำหนด
4 หลักการของ Cloud Access Security Broker
โซลูชัน CASB ดำเนินการตามหลักการ 4 ประการ ได้แก่ การปฏิบัติตามข้อกำหนด การมองเห็น ความปลอดภัยข้อมูล และการตรวจจับภัยคุกคาม
- การมองเห็น (Visibility) - หลักการแรกของ CASB คือ การมองเห็นหรือ Visibility โดย CASB ให้การมองเห็นรายละเอียดการใช้บริการคลาวด์ทั่วทั้งองค์กร รวมถึงแอปพลิเคชันที่ได้รับอนุญาตและไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งครอบคลุมการติดตามกิจกรรมของผู้ใช้งาน การรับ-ส่งข้อมูล และการโต้ตอบกับบริการคลาวด์ นอกจากนี้ยังช่วยระบุและจัดการแอปพลิเคชันคลาวด์ที่ไม่ได้รับอนุญาตที่พนักงานอาจใช้งานอยู่
- ความปลอดภัยข้อมูล (Data Security) - หลักการที่สองคือ ความปลอดภัยข้อมูล หรือ Data Security โดยผู้ให้บริการ CASB สามารถให้การป้องกันข้อมูลที่มีความอ่อนไหวผ่านการเข้ารหัส (Encryption) การใช้โทเคน (Tokenization) และ Data Loss Prevention (DLP) รวมถึงการรักษาความปลอดภัยข้อมูลขณะอยู่ในที่เก็บ ขณะส่งผ่าน และขณะใช้งานในสภาพแวดล้อมคลาวด์ พร้อมบังคับใช้นโยบายความปลอดภัยข้อมูลเพื่อควบคุมการแชร์และการเข้าถึงข้อมูล
- การป้องกันภัยคุกคาม (Threat Protection) - หลักการที่สามคือ การป้องกันภัยคุกคาม (Threat Protection) ซึ่ง CASB จะทำการระบุและจัดการภัยคุกคามต่างๆ ด้วยการติดตามพฤติกรรมผู้ใช้งานและกิจกรรมคลาวด์แบบเรียลไทม์ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจจับความผิดปกติในระบบ มัลแวร์ และกิจกรรมที่น่าสงสัย พร้อมมอบเครื่องมือและกระบวนการในการตอบสนองและลดภัยความเสี่ยงจากภัยคุกคาม โดยเฉพาะมัลแวร์เรียกค่าไถ่ (Ransomware) และฟิชชิง Phishing ที่เป็นภัยคุกคามที่กำลังแพร่หลายในปัจจุบัน
- การปฏิบัติตามข้อกำหนด (Compliance) - หลักการสุดท้ายคือการปฏิบัติตามข้อกำหนด โดยผู้ให้บริการ CASB สามารถช่วยให้องค์กรปฏิบัติตามกฎระเบียบและมาตรฐานของอุตสาหกรรม ด้วยการบังคับใช้นโยบายความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูล พร้อมจัดทำ Audit Logs รายงานการปฏิบัติตามข้อกำหนด และเอกสารต่างๆ เพื่อแสดงการปฏิบัติตามข้อกำหนดกฎระเบียบและนโยบายภายใน
ติดตั้ง CASB อย่างไร?
ปัจจุบันมี 3 รูปแบบหลักในการติดตั้ง CASB ได้แก่ การติดตั้งแบบ API-based, Proxy-based และ Agent-based โดยแต่ละรูปแบบมีรายละเอียด ดังนี้
การติดตั้งแบบ API-Based
การติดตั้งรูปแบบนี้อาศัย API ของผู้ให้บริการคลาวด์ เพื่อผสานรวมระบบเข้ากับแพลตฟอร์มคลาวด์ จึงช่วยให้ CASB สามารถเข้าถึงและควบคุมข้อมูลและกิจกรรมของผู้ใช้งาน โดยไม่จำเป็นต้องส่งข้อมูลผ่าน CASB
การติดตั้งแบบ API-Based มีข้อดีหลักคือ การมองเห็นและการควบคุมเชิงลึก พร้อมสามารถบังคับใช้นโยบายโดยตรงกับบริการคลาวด์ อีกทั้งยังสามารถติดตั้งได้ง่าย โดยไม่ต้องเปลี่ยนเส้นทางของทราฟฟิกเครือข่าย (Network Traffic) ทั้งนี้ CASB แบบ API-Based นั้นมีข้อจำกัดตรงที่ไม่สามารถมอบการป้องกันแบบเรียลไทม์ และอาจไม่ครอบคลุมบริการคลาวด์ทั้งหมด
การติดตั้งแบบ Proxy-Based
การติดตั้งแบบ Proxy-Based ประกอบด้วย 2 รูปแบบ คือ
- Forward Proxy - เป็นการติดตั้งที่อยู่ระหว่างผู้ใช้งานและบริการคลาวด์ ซึ่งจะเปลี่ยนเส้นทางของทราฟฟิกผ่าน CASB ซึ่งต้องมีปรับเปลี่ยนการตั้งค่าบนอุปกรณ์ของผู้ใช้งาน หรือโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายในการเปลี่ยนเส้นทางทราฟฟิก
- Reverse Proxy - ที่อยู่ระหว่างบริการคลาวด์และผู้ใช้ รูปแบบนี้ทำงานร่วมกับระบบ ZTNA (Zero Trust Network Access) และ SD-WAN เพื่อควบคุมการเข้าถึงแบบรอบคอบ
การติดตั้งแบบ Proxy-Based นั้นมีประโยชน์หลายด้าน เช่น มอบการมองเห็นและควบคุมแบบเรียลไทม์ สามารถบังคับใช้นโยบายกับบริการคลาวด์ทั้งหมด และมีประสิทธิภาพในการอุปกรณ์ปลายทาง (ทั้ง Managed และ Unmanaged Device) แต่มีข้อเสีย เช่น ความล่าช้า (Latency) ซึ่งต้องการการตั้งค่าที่มีรายละเอียดมากขึ้นและการบำรุงรักษาสม่ำเสมอ และบริการ CASB อาจถูก Bypass ได้ หากผู้ใช้งานเข้าถึงบริการคลาวด์โดยตรง
การติดตั้งแบบ Agent-Based
การติดตั้งรูปแบบที่สาม คือ Agent-Based โดยเป็นการติดตั้งซอฟต์แวร์บนอุปกรณ์ของผู้ใช้งาน เพื่อติดตามและควบคุมโดยตรง ซึ่ง “Agent” เหล่านี้สามารถบังคับใช้นโยบายความปลอดภัยและมอบการมองเห็นในการใช้งานคลาวด์ได้อย่างละเอียด ทั้งการควบคุมกิจกรรมบนอุปกรณ์ และสามารถจัดการการเข้าถึงผ่านเครือข่ายต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่อาจมีข้อจำกัด เนื่องจากต้องดำเนินการติดตั้งบนทุกอุปกรณ์และบำรุงรักษาสม่ำเสมอ ซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของอุปกรณ์นั้นๆ
CASB มอบความสามารด้านการรักษาความปลอดภัยอะไรบ้าง?
Cloud Access Security Broker มอบความสามารถด้านความปลอดภัยที่หลากหลาย เช่น
- การมองเห็นและควบคุม (Visibility and Control) - CASB มอบการมองเห็นที่ครอบคลุมบริการคลาวด์ แอปพลิเคชันที่ได้รับอนุญาตและไม่ได้รับอนุญาต (Shadow IT) ทำให้องค์กรสามารถระบุและควบคุมการใช้คลาวด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- การป้องกันการสูญเสียข้อมูล (Data Loss Prevention) - สามารถช่วยป้องกันข้อมูลที่มีความอ่อนไหวจากการถูกโจรกรรมผ่านระบบคลาวด์ โดยทำการระบุข้อมูลที่มีความอ่อนไหว เช่น ข้อมูลทางการเงินหรือข้อมูลส่วนบุคคลที่ระบบตัวตนได้ (PII) และทำการบล็อกข้อมูลเหล่านั้นไม่ให้ถูกเข้าถึง
- การป้องกันภัยคุกคาม (Threat Protection) - CASB สามารถช่วยปกป้ององค์กรจากภัยคุกคามบนคลาวด์ เช่น มัลแวร์และ Ransomware โดยการสแกนข้อมูลที่ส่งผ่านคลาวด์เพื่อหาเนื้อหาที่เป็นอันตรายและบล็อกการเข้าถึงเว็บไซต์ที่เป็นอันตราย รวมถึงทำงานร่วมกับระบบ Secure Web Gateway หรือ EDR และ MDR เป็นต้น
- การควบคุมการเข้าถึง (Access Control) - CASB บังคับใช้นโยบายการควบคุมการเข้าถึงสำหรับแอปพลิเคชันคลาวด์ รวมถึงการควบคุมว่า ใครสามารถเข้าถึงแอปพลิเคชันคลาวด์ได้ สามารถทำอะไรในแอปพลิเคชันเหล่านั้น และสามารถเข้าถึงผ่านอุปกรณ์ใดได้บ้าง ทำงานควบคู่กับไฟร์วอลล์ (Firewall) และไฟร์วอลล์รุ่นใหม่อย่าง Next-Generation Firewall (NGFW)
- การปฏิบัติตามข้อกำหนด (Compliance) - CASB สามารถช่วยองค์กรปฏิบัติตามกฎระเบียบของอุตสาหกรรมและกฎหมายความเป็นส่วนตัวของข้อมูล โดยการจัดให้มีความสามารถในการบันทึกและตรวจสอบ ซึ่งสามารถใช้เพื่อติดตามกิจกรรมของผู้ใช้งานในคลาวด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- การกำกับดูแลคลาวด์ (Cloud Governance) - CASB สามารถช่วยองค์กรสร้างและบังคับใช้นโยบายการกำกับดูแลคลาวด์ รวมถึงนโยบายสำหรับการเลือกบริการคลาวด์ ความปลอดภัยข้อมูล และการเข้าถึงของผู้ใช้งาน
ประโยชน์ของ Cloud Access Security Brokers
ประโยชน์หลักของการใช้บริการ CASB ได้แก่
- การมองเห็นและควบคุมที่เพิ่มขึ้น - CASB มอบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแอปพลิเคชันที่ได้รับอนุญาตและที่ใช้โดยไม่ได้รับอนุมัติจาก IT การมองเห็นข้อมูลดังกล่าว ช่วยให้คุณสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้งานคลาวด์ ควบคุมการเข้าถึง และบังคับใช้นโยบายความปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- การป้องกันการสูญเสียข้อมูล (Data Loss Prevention) - CASB ทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ข้อมูลที่มีความอ่อนไหวขององค์กร โดยการระบุและปกป้องข้อมูลเหล่านั้น ซึ่งมีความสามารถในการป้องกันการรั่วไหลโดยการบล็อกการส่งข้อมูลที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือเข้ารหัสข้อมูลขณะอยู่ใน Storage และขณะส่งผ่าน เพื่อป้องกันในกรณีที่ แม้ผู้ไม่หวังดีได้ข้อมูลไป ก็จะไม่สามารถเปิดดูข้อมูลดังกล่าวได้
- การป้องกันภัยคุกคาม - ทำหน้าที่เป็นโล่ป้องกันภัยคุกคามบนคลาวด์จากภัยคุกคาม เช่น มัลแวร์และ Ransomware สามารถสแกนข้อมูลคลาวด์ ระบุเนื้อหาที่เป็นอันตราย และบล็อกการเข้าถึงเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันที่เป็นอันตราย ทำงานร่วมกับ Secure Web Gateway และระบบ Firewall
- การจัดการการปฏิบัติตามข้อกำหนด - การนำทางในโลกที่ซับซ้อนของกฎระเบียบอาจเป็นความท้าทาย CASB สามารถทำให้การปฏิบัติตามข้อกำหนดง่ายขึ้นโดยการจัดหาเครื่องมือเพื่อติดตามและควบคุมการไหลของข้อมูลตามมาตรฐานและกฎระเบียบของอุตสาหกรรม เช่น GDPR, HIPAA และ CCPA
- การปรับปรุงการกำกับดูแลคลาวด์ - CASB ช่วยให้คุณสามารถสร้างและบังคับใช้นโยบายการกำกับดูแลคลาวด์ที่ชัดเจน นโยบายเหล่านี้สามารถครอบคลุมด้านต่างๆ เช่น การเลือกบริการคลาวด์ แนวปฏิบัติด้านความปลอดภัยข้อมูล และการควบคุมการเข้าถึงของผู้ใช้ รับประกันสภาพแวดล้อมคลาวด์ที่ปลอดภัยและมีการจัดการที่ดี
- การลดความเสี่ยงจาก Shadow IT - Shadow IT หรือการใช้แอปพลิเคชันคลาวด์ที่ไม่ได้รับอนุญาต อาจก่อให้เกิดช่องโหว่ด้านความปลอดภัย ซึ่ง CASB สามารถช่วยระบุและจัดการ Shadow IT เพื่อให้องค์กรสามารถประเมินและลดความเสี่ยงด้านนี้ได้
- การควบคุมการเข้าถึงแบบละเอียด - CASB ช่วยให้องค์กรสามารถปรับใช้การควบคุมการเข้าถึงแบบละเอียดกับแอปพลิเคชันคลาวด์ โดยสามารถกำหนดว่าใครสามารถเข้าถึงแอปพลิเคชันนั้นๆ สามารถทำอะไรในแอปได้บ้าง และเข้าถึงแอปจากอุปกรณ์ใดได้บ้าง
ตัวอย่างกรณีการใช้งาน CASB
กรณีการใช้งานทั่วไปของบริการ CASB ที่พบได้บ่อยมีดังนี้
- การตรวจสอบและควบคุมแอปพลิเคชันคลาวด์ - องค์กรหลายแห่งมักใช้บริการคลาวด์ในรูปแบบ Software-as-a-Services เป็นจำนวนมาก ทำให้ยากต่อการติดตามกิจกรรมของผู้ใช้งาน แต่ด้วยการนำ CASB มาใช้ องค์กรจะมีแพลตฟอร์มแบบรวมศูนย์ที่สามารถติดตามและจัดการแอปพลิเคชันที่ได้รับอนุญาตและไม่ได้รับอนุญาต มอบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับรูปแบบการใช้งานคลาวด์และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
- การป้องกันการสูญเสียข้อมูล - การรั่วไหลของข้อมูลที่มีความอ่อนไหวอาจสร้างความเสียหายต่อองค์กรได้อย่างมาก โดย CASB สามารถช่วยป้องกันการโจรกรรมข้อมูล ด้วยการระบุข้อมูลที่สำคัญและบังคับใช้การควบคุม เช่น การบล็อกการส่งข้อมูลที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือทำการเข้ารหัสข้อมูล
- การเสริมการปฏิบัติตามข้อกำหนด - CASB ทำให้การปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านกฎหมายง่ายขึ้น โดยการจัดหาเครื่องมือเพื่อติดตามและควบคุมกิจกรรมข้อมูลตามมาตรฐานสากล อีกทั้งยังสามารถสร้างรายงานการตรวจสอบ เพื่อใช้เป็นหลักฐานแสดงการปฏิบัติตามกฎระเบียบขององค์กร
- การตรวจจับและลดภัยคุกคามจากภายใน - แฮกเกอร์อาจใช้ประโยชน์จากสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลบุคลากรภายในองค์กรผ่านการฟิชชิง (Phishing) หรือเทคนิค Social Engineering ต่างๆ โดย CASB ติดตามกิจกรรมของผู้ใช้งานและสามารถตรวจจับพฤติกรรมที่ผิดปกติ เช่น ปริมาณการดาวน์โหลดไฟล์ที่มากผิดปกติ หรือการกระทำที่มีความเสี่ยงสูงซ้ำๆ ซึ่งบ่งชี้ถึงภัยคุกคามภายในที่อาจเกิดขึ้น
- การรักษาความปลอดภัยพื้นที่จัดเก็บบนคลาวด์และการป้องกันมัลแวร์ - Cloud Storage อาจเป็นที่หลบซ่อนของมัลแวร์ต่างๆ โดย CASB มีความสามารถในการสแกนไฟล์บนคลาวด์เพื่อตรวจจับมัลแวร์และใช้ Sandboxing เพื่อตรวจจับภัยคุกคามแบบ Zero-Day รวมถึงสามารถบังคับใช้การควบคุม Session เพื่อป้องกันการอัปโหลดมัลแวร์ได้แบบเรียลไทม์
- การรักษาความปลอดภัยแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์ส่วนตัว - พนักงานที่ใช้อุปกรณ์ส่วนตัวในการทำงานอาจเสี่ยงต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ต่างๆ โดย CASB มีฟีเจอร์ Contextual Access Control ที่ควบคุมการอนุญาตหรือจำกัดการเข้าถึงทรัพยากรคลาวด์ที่ได้รับอนุมัติตามบริบทของอุปกรณ์และผู้ใช้ โดยไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน
- การกำกับดูแลและการควบคุมการเข้าถึง - CASB สามารถช่วยสร้างและบังคับใช้นโยบายเกี่ยวกับการเลือกใช้บริการคลาวด์ แนวทางปฏิบัติในการรักษาความปลอดภัยข้อมูล และการควบคุมการเข้าถึงของผู้ใช้งาน อีกทั้งยังสามารถให้การควบคุมการเข้าถึงแบบละเอียดสำหรับแอปพลิเคชันและฟังก์ชันบางอย่าง
ความแตกต่างระหว่าง CASB และ SASE
คุณลักษณะ | Cloud Access Security Broker (CASB) | Secure Access Service Edge (SASE) |
---|---|---|
ประเภท | โซลูชันความปลอดภัยทางไซเบอร์ | กรอบการทำงานความปลอดภัยทางไซเบอร์ |
การใช้งานหลัก | รักษาความปลอดภัยและปฏิบัติตามข้อกำหนดของบริการคลาวด์ | รักษาความปลอดภัยเครือข่ายและการเชื่อมต่อสำหรับผู้ใช้ระยะไกลและแบบกระจาย |
ฟังก์ชัน | มอบการมองเห็น การควบคุมการเข้าถึง การป้องกันการสูญเสียข้อมูล (DLP) และการป้องกันภัยคุกคามสำหรับแอปพลิเคชันคลาวด์ | ผสานรวมฟังก์ชันเครือข่าย (SD-WAN) และความปลอดภัย (CASB, ZTNA) เป็นบริการคลาวด์แบบรวมศูนย์ |
การติดตั้ง | แบบ Cloud-Based ผ่าน API | แบบ Cloud-Based |
การปรับขยาย | สามารถขยายได้เพื่อครอบคลุมบริการและแอปพลิเคชันคลาวด์หลายแห่ง | สามารถขยายได้สูงเพื่อรองรับเครือข่ายขนาดใหญ่แบบกระจายศูนย์ และรองรับผู้ใช้งานที่ทำงานระยะไกล |
ข้อดี | ติดตามกิจกรรมผู้ใช้ใน Dropbox บังคับใช้การเข้ารหัสข้อมูลใน Salesforce | มอบการเข้าถึงบริการคลาวด์ที่ปลอดภัยจากอุปกรณ์ใดก็ได้ ป้องกันมัลแวร์และภัยคุกคามอื่นๆ |
ประสิทธิภาพ | อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของเครือข่ายขึ้นอยู่กับการติดตั้งและการผสานรวม | ออกแบบมาเพื่อประสิทธิภาพการทำงานในเครือข่ายแบบกระจายศูนย์และการทำงานระยะไกล |
ความท้าทายในการใช้งาน Cloud Access Security Broker
แม้ว่า CASB จะมีคุณสมบัติในการรักษาความปลอดภัยที่จำเป็นสำหรับสภาพแวดล้อมคลาวด์ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีข้อจำกัด ธุรกิจที่กำลังตัดสินใจใช้บริการโซลูชันเหล่า CASB ควรพิจารณาถึงความท้าทายต่างๆ ด้วย เช่น
- ความสามารถในการปรับขยาย - เมื่อองค์กรเติบโตขึ้น ปริมาณข้อมูลและจำนวนแอปพลิเคชันคลาวด์ที่ใช้งานก็จะเพิ่มขึ้นไปด้วย ดังนั้นระบบ CASB ต้องสามารถปรับขยายขนาดได้ต่อเนื่องโดยไม่กระทบต่อประสิทธิภาพ
- ความสามารถในการลดภัยคุกคามที่จำกัด - CASB บางตัวตรวจจับภัยคุกคามเท่านั้นโดยไม่มีความสามารถในการลดภัยคุกคามอย่างแข็งขัน ซึ่งอาจจำกัดประสิทธิภาพในสถานการณ์การตอบสนองภัยคุกคามแบบเรียลไทม์
- ช่องว่างในการผสานระบบ - หากไม่มีการผสานรวม CASB เข้ากับระบบและโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพมากพอ ความสามารถในการตรวจสอบและการควบคุมกิจกรรมบนคลาวด์ผ่าน Cloud Access Security Broker อาจขาดประสิทธิภาพ ทำให้เกิดจุดช่องโหว่ด้านความปลอดภัยขึ้นได้
- ข้อกังวลด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูล - ขึ้นอยู่กับแนวปฏิบัติการจัดการข้อมูลของผู้ให้บริการ CASB โดยอาจมีความเสี่ยงในการจัดเก็บ ประมวลผล หรือส่งข้อมูลที่มีความอ่อนไหว ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญควรพิจารณา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้มาตรฐานการปฏิบัติตามข้อกำหนดและความเป็นส่วนตัวที่เข้มงวด
สรุปแล้ว
CASB (Cloud Access Security Broker) เป็นโซลูชันความปลอดภัยที่สำคัญสำหรับองค์กรที่ต้องจัดการกับความซับซ้อนของ Cloud Computing โดยทำหน้าที่เป็น “ผู้รักษาประตู” ระหว่างโครงสร้างพื้นฐาน On-Premise และบริการคลาวด์ CASB มอบฟังก์ชันที่จำเป็น เช่น การมองเห็น การบังคับใช้นโยบาย การป้องกันข้อมูล การตรวจจับภัยคุกคาม และการปฏิบัติตามข้อกำหนด
ผู้ให้บริการ Cloud Access Security Broker ช่วยให้องค์กรสามารถติดตามและจัดการการใช้งานคลาวด์อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่มีความอ่อนไหวผ่าน Encyption และ Data Loss Prevention ลดภัยคุกคามบนคลาวด์อย่างมัลแวร์ และเข้าควบคุมการเข้าถึง เพื่อให้แน่ใจว่าองค์กรยังคงปฏิบัติตามกฎหมายความเป็นส่วนตัวของข้อมูล
พูดได้ว่า โซลูชัน CASB มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความปลอดภัยขององค์กร การกำกับดูแล และประสิทธิภาพการดำเนินงานในยุคคลาวด์
ติดต่อเราเพื่อสอบถามข้อมูลธุรกิจ
คำถามที่พบบ่อย
คำจำกัดความของ Cloud Access Security Broker คือ จุดตรวจสอบความปลอดภัยระหว่างระบบภายในของบริษัทกับระบบของผู้ให้บริการคลาวด์ โดยช่วยบังคับใช้นโยบายความปลอดภัยและปกป้องข้อมูลขณะที่เคลื่อนย้ายเข้าและออกจากคลาวด์ CASB คือ เครื่องมือที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางสำคัญในการควบคุมการเข้าถึงและการใช้งานบริการคลาวด์ขององค์กร
- การมองเห็น (Visibility) - มอบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการใช้งานคลาวด์ ผู้ใช้งาน และข้อมูล
- การปฏิบัติตามข้อกำหนด (Compliance) - ช่วยให้แน่ใจว่าการใช้งานคลาวด์เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎระเบียบและข้อกำหนดภายใน
- ความปลอดภัยข้อมูล (Data Security) - ปกป้องข้อมูลที่มีความอ่อนไหวผ่าน Encyption, Data Loss Prevention และแนวทางอื่นๆ
- การป้องกันภัยคุกคาม (Threat Protection) - ตรวจจับและตอบสนองต่อภัยคุกคามบนคลาวด์ เช่น มัลแวร์ (Malware) และการเข้าถึงที่ไม่ได้รับอนุญาต
- แบบ API-based - บูรณาการโดยตรงกับ API ของบริการคลาวด์เพื่อให้การควบคุมความปลอดภัย
- แบบ Proxy-based - ใช้ proxy เพื่อสกัดกั้นข้อมูลระหว่างผู้ใช้และบริการคลาวด์ ทำงานร่วมกับ SD-WAN และ ZTNA
- แบบ Agent-based - ติดตั้ง agent บนอุปกรณ์เพื่อติดตามและควบคุมการเข้าถึงคลาวด์
Cloud Access Security Broker เสริมสร้างความปลอดภัยแก่องค์กร โดยการมอบการมองเห็นที่ครอบคลุมกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนคลาวด์ พร้อมบังคับใช้นโยบายความปลอดภัย ตรวจจับและลดภัยคุกคาม รวมถึงปกป้องข้อมูลที่มีความอ่อนไหวผ่าน Encyption และ Data Loss Prevention
CASB มีความสำคัญเพราะช่วยให้องค์กรรักษาความปลอดภัยในสภาพแวดล้อมคลาวด์ มั่นใจได้ว่าข้อมูลได้รับการป้องกัน มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดตามกฎหมาย และมีการตรวจจับและลดภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การเลือก Cloud Access Security Broker ที่เหมาะสมต้องพิจารณาฟีเจอร์และฟังก์ชันต่างๆ อย่างถี่ถ้วน อีกทั้งองค์กรควรถามคำถามต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าโซลูชัน CASB นั้นสอดคล้องกับการใช้งานคลาวด์ เป็นไปตามข้อกำหนดการปฏิบัติตามกฎระเบียบ และตรงกับเป้าหมายด้านความปลอดภัย
- CASB สามารถแยกแยะระหว่างแอปที่มีการจัดการและไม่มีการจัดการได้หรือไม่?
- CASB ผสานรวมกับเครื่องมือความปลอดภัยที่มีอยู่ได้หรือไม่?
- มีนโยบายการจัดการข้อมูลและความเป็นส่วนตัวอย่างไร?
- สามารถปรับขยายตามการเติบโตขององค์กรได้หรือไม่?